เมื่อพูดถึง "เด็ก" กับ "การปิดเทอม" เชื่อว่า หลาย ๆ คนวนเวียนอยู่กับการเรียนที่คุณพ่อคุณแม่จัดหาไว้ให้เพื่อเสริมทักษะด้านต่าง ๆ หรือเตรียมความพร้อมสู่การเปิดเทอมใหม่ ในขณะที่บางคนถูกปล่อยให้อยู่กับการเล่นอย่างอิสระเนื่องจากพ่อแม่ไม่มีเวลาสร้างกิจกรรม หรือเข้ามีบทบาทในการเล่นกับลูก
โดยทั้งสองกิจกรรมข้างต้น ไม่ว่าจะเรียน หรือเล่น หากมากเกินไปสำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ อย่างเด็กวัยอนุบาล และเด็กปฐมวัย อาจส่งผลลบต่อตัวเด็กได้ วันนี้ทีมงาน Life & Family มีคำแนะนำดี ๆ ในการจัดคอร์สเรียน และเล่นอย่างเหมาะสมจาก พญ.สุธิรา ริ้วเหลือง จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น โรงพยาบาลพระนั่งเกล้ามาฝากเป็นแนวทางกันครับเรียนอย่างไรให้พอดี ช่วงเวลาปิดเทอมแบบนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านกำลังมองหาที่เรียนเสริมให้ลูกกันไม่มากก็น้อย จิตแพทย์เด็กท่านนี้ มองว่า ควรดูความเหมาะสมของเด็กเป็นหลัก โดยเด็ก 5-6 ขวบ สมองจะเริ่มคงที่ และพร้อมที่จะเรียนรู้ แต่ต้องดูความพร้อมของลูกมาเป็นอันดับแรกด้วย เช่น เรื่องสมาธิ ซึ่งเด็กบางคนอาจยังไม่พร้อมที่จะเรียน ในขณะที่บางคนสามารถอยู่กับสิ่งที่เรียนได้ดี "การเรียนเสริม บางครั้งลูกเรียนไม่ไหว แต่ด้วยความเป็นพ่อแม่ อยากฝึกให้ลูกอดทน เข้มแข็ง ตรงนี้อยากแนะนำว่า ถ้าลูกไม่ได้เกลียดวิชานี้มาก ก่อนอื่นเราควรให้กำลังใจเขา แต่ถ้าลูกทำไม่ได้ เครียด ร้องไห้ หรือมีอาการทางร่างกายอื่น ๆ ที่เรามองว่าลูกเริ่มไม่ไหวแล้ว เราควรถอยมานิดนึง และหากิจกรรมอื่นให้ลูกจะดีกว่า" จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นให้แนวทาง พร้อมทั้งบอกต่อว่า การเปลี่ยนที่เรียนควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะลูกจะติดนิสัยเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เมื่อเขาเรียนไม่ได้ อย่างไรก็ดี การส่งลูกเรียนเสริมในช่วงปิดเทอมนั้น จิตแพทย์เด็กท่านนี้ แนะต่อไปว่า คุณพ่อคุณแม่ควรคุยกับครูในสถาบันสอนเสริมแห่งนั้น ๆ ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้เด็กได้ทดลองเรียนดูก่อน เพื่อจะได้ดูความพร้อม และไม่ต้องเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ เช่น ให้ลูกเรียนเปียโน ถ้าสามารถเรียนได้ และลูกชอบก็ให้เรียนต่อไป แต่ถ้าลูกไม่ชอบ หรือไม่มีสมาธิในการเรียน ควรมองหากิจกรรมอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับวัยจะดีกว่า "พ่อแม่ทุกท่านอยากให้ลูกเรียนเก่ง อ่านออกเขียนได้ อนาคตจะได้เรียนสูง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับครอบครัว แต่ทั้งนี้ควรดูลูกเป็นหลัก คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านมองออกอยู่แล้วว่าลูกเราแนวไหน ถ้ามองแล้วลูกไปไม่ไหวก็ควรลดความคาดหวังลง แต่ถ้ายังให้ลูกฝืนทั้งลูกและพ่อแม่ก็เครียดตามไปด้วย" จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นกล่าว
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต เล่นอย่างไรให้พอดี ส่วนการเล่นอย่างไรให้พอดีและเหมาะสมนั้น จิตแพทย์เด็กรายนี้ แนะนำต่อว่า การเล่นมีความสำคัญกับเด็กมาก โดยการเล่นมีอยู่ 2 แบบ คือ การเล่นแบบอิสระ เช่น วิ่งเล่น ขี่จักรยาน ซ่อนหา และการเล่นฝึกพัฒนาการ เช่น วาดภาพ ปั้น ระบายสี ร้องเพลง ซึ่งการเล่นเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องจัดอย่างสมดุล โดยเฉพาะเวลาในการเล่น
"ใน 1 วันคุณพ่อคุณแม่ควรมีเวลาเล่น และอยู่กับลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรืออย่างน้อย ๆ ควรจะมีท่านใดท่านหนึ่งเสียสละเวลาให้กับลูกเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะลูกอาจเสี่ยงต่อการติดเพื่อน ติดเกม หรือติดโทรทัศน์ นำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์ตามมา ซึ่งแต่ละกิจกรรม ไม่ว่าจะอาบน้ำ กินข้าว หรือการเล่น เด็กควรมีการยืดหยุ่น ไม่ควรกำหนด หรือควบคุมเด็กมากเกินไป" จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นกล่าว อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ลูกติดเล่นไม่ยอมเลิก ตรงนี้คุณหมอให้แนวทางว่า ค่อย ๆ บอกลูกโดยเริ่มต้นจากบอกให้ลูกรู้ตัวก่อน เมื่อไม่ได้ผล เริ่มหาสิ่งที่ลูกสนใจมาแทนที่สิ่งที่ลูกกำลังเล่นอยู่เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ แต่ถ้าลูกยังไม่ยอมเลิกเล่น ถึงแม้จะร้องอย่างไร ไม่ควรตามใจ แต่ทั้งนี้ต้องดึงความสนใจเป็นระยะ ๆ ด้วย "คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรคาดหวังว่าลูกจะรับผิดชอบในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะลูกวัยอนุบาล แต่ใครสักคนควรแบ่งเวลามาอยู่กับลูก เพราะไม่เช่นนั้น ลูกจะไปเล่นกับเกม หรือโทรทัศน์แทน ตรงนี้จะส่งผลต่อพัฒนาการลูกได้ โดยเฉพาะปัญหาอารมณ์ เด็กอาจเลียนแบบพฤติกรรมไม่เหมาะสมจากเพื่อน หรือสื่อได้" จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นทิ้งท้ายถึงพ่อแม่ทุกท่าน
ที่มา : ผู้จัดการ Online คอลัมน์ Life & Family | How To 23 มีนาคม 2554
|