 |
|
 |
|
|
 |
|
 |
|
|
|
|
เมื่อ วันพฤหัสบดี 08 กันยายน 2005 - 08:33 ::: ผู้บันทึก: Admin ::: 3815 คนอ่าน
|
|
|
นักวิชาการชี้การตรวจสุขภาพที่ผ่านมา มักทำไม่ถูกต้องส่งผลให้เจ็บป่วยและสิ้นเปลืองปีละกว่า 10,000 ล้านบาท .ระบุตรวจเท่าที่จำเป็นและต้องเป็นการตรวจก่อนหมดสภาพเท่านั้นถึงจะได้ผล สปสช. ย้ำควรตรวจสุขภาพก่อนหมดสภาพปีละครั้ง ขณะที่รพ. ทั้งภาครัฐและเอกชนแข่งขันดุเดือดจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมหวังฟันกำไรจากเครื่องมือที่ซื้อมาให้คุ้มทุนภายใน 3 ปี
นายแพทย์สุรจิต สุนทรธรรม กรรมการวิชาการ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะวิจัยแนวทางการตรวจและการสร้างเสริมสุขภาพในประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและกลุ่มสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางแห่งประเทศไทย อดีตนักเรียนทุนมูลนิธิ อานันทมหิดล และอาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าเปิดเผยว่า ปัจจุบันมีโปรแกรมการตรวจสุขภาพเสนออกมาสู่สาธารณชนอย่างแพร่หลาย โดย โปรแกรมส่วนใหญ่มักเป็นการตรวจหาความหมดสภาพ คือเน้นการตรวจหาว่าเป็นโรคอะไรแล้วหรือยัง เช่น ตรวจน้ำตาลในเลือดเพื่อหาว่าเป็นโรคเบาหวานหรือยัง และมักไม่ได้เป็นการตรวจก่อนหมดสภาพ และไม่ค่อยได้เน้นการตรวจหาเหตุปัจจัยหรือความเสี่ยงที่จะนำไปสู่โรคดังกล่าว
กรรมการวิชาการกล่าวว่า ทิศทางการตรวจสุขภาพก่อนหมดสภาพ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้งด้านแนวคิด วิธีการ และเนื้อหาสาระ ซึ่งจะต้องทำให้ ทั้งสังคมเข้าใจตรงกันว่า หัวใจหลักของการตรวจสุขภาพก่อนหมดสภาพนั้นเน้นและให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตรวจเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เพื่อจะได้ป้องกันก่อนที่โรคจะเกิดขึ้น. ทั้งนี้ การจัดทำ สมุดสำรวจและบันทึกสุขภาพ นับเป็นการสำรวจตรวจหาปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้วยตนเอง ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเสริมสุขภาพ เพราะหากเราได้ทบทวนและค้นพบปัจจัยเสี่ยงด้วยตนเองก็ยิ่งสร้างความตระหนักให้แก่เรายิ่งขึ้นและส่งผลให้เราระมัดระวังขจัดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคได้ดียิ่งขึ้นด้วย
การสำรวจและบันทึกสุขภาพนี้ อาจจัดได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการตรวจสุขภาพซึ่งจะขาดเสียมิได้ ซึ่งการสำรวจและบันทึกดังกล่าวยังสามารถใช้ในการติดตามสุขภาพอย่างต่อเนื่องทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เราอาจไม่ได้ตระหนักได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และบุคคลทุกคนควรได้รับการทบทวนความตระหนักต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งเราเรียกการตรวจทบทวนปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวนี้ว่า การตรวจสุขภาพประจำปี โดยสปสช. ได้จัดทำสมุดบันทึกสุขภาพดังกล่าวไว้เป็นสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้สนใจสามารถประเมินสุขภาพตนเองได้ทุกที่ทุกเวลาตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยเข้าไปที่ www.nhso.go.th แล้วเลือก ประเมินสุขภาพตนเอง ในเมนูบริการ หรือ ที่ Link ประเมินสุขภาพตนเอง และหลังจากสมัครสมาชิกแล้วกรอกข้อมูลที่สำคัญ โปรแกรมก็จะประเมินสุขภาพให้พร้อมมีคำแนะนำในการปรับปรุงแก้ไขความเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งเราเรียกโปรแกรมดังกล่าวนี้ว่า โปรแกรมพยากรณ์สุขภาพ
นายแพทย์ปรีดา แต้อารักษ์ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยของสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ(สปรส.)ระบุว่า ขณะนี้มีการเสนอวิธีการตรวจและราคาที่แตกต่างกันอย่างมากตั้งแต่หลายร้อยบาทบาทขึ้นไปจนถึงนับหมื่นบาท หรือกล่าวได้ว่าแต่ละปีต้องอาจต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายไปถึง 12,000 ล้านบาท หากมีแผนการตลาดเช่นนี้ส่งผลให้โดยรายการแข่งขันส่งเสริมการขายรูปแบบต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับเทศกาลแต่ละช่วงเวลา เรียกได้ว่าหากผู้บริโภคเลือกที่จะตรวจอะไรก็มีการจัดให้ได้ตั้งแต่การตรวจเลือดไปจนถึงการตรวจที่ต้องใช้เครื่องมือทันสมัยซับซ้อนอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มกับเงินที่ต้องเสียไป
โปรแกรมการตรวจสุขภาพนับว่าทำกำไรให้ของรพ.รัฐและเอกชนได้อย่างงาม อีกทั้งเมื่อรพ.ลงทุนซื้อเครื่องมือแพทย์มาในราคาแพง ก็ต้องเร่งทำโปรโมชั่นจัดแพคเกจเรียกลูกค้าเพื่อจะได้คืนทุนเร็วๆ หากรอให้ใช้บริการแบบปกติอาจจะต้องใช้เวลา 5-6 ปีในการคุ้มทุน หากเร่งทำการตลาดจะใช้เวลาภายใน 3 ปีเท่านั้น ถ้าหากหน่วยบริการมองเรื่องธุรกิจเป็นเรื่องหลักแล้ว ก็ต้องเรียกลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการโดยไม่จำเป็น ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายไปโดยไม่คุ้มค่าเท่าที่ควรโฆษกสปสช.กล่าว
|
|
 |
|
 |
| |
 |
|
 |
|
| |
|