|
 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีโรคอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำที่รุนแรง เกิดขึ้นหลายชนิด ก่อให้เกิดผลกระทบ อย่างรุนแรงต่อชีวิต การท่องเที่ยว เศรษฐกิจ
เกือบทั้งหมดของโรคเหล่านี้ เป็นการติดต่อจากสัตว์สู่คน บางโรคก็พัฒนากลายพันธุ์มาเป็นการติดเชื้อจากคนสู่คน ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
โรคต่อไปนี้ ไม่นับโรคซาร์ส ไข้หวัดนก เป็นโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำที่น่ากลัว
อันดับหนึ่ง...Enterovirus 71
เดิมเป็นโรคปากเท้าเปื่อยในเด็ก ซึ่งพัฒนากลายพันธุ์ไปเป็นโรคก้านสมองอักเสบ ถูกพบเมื่อปี 2512 ก่อให้เกิดอาการแขน ขาอ่อนแรง ตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา เด็กอายุไม่เกิน 3-4 ปี เป็นโรคปากเท้าเปื่อย...จำนวนมาก อาการที่พบ เด็กจะสั่น กระตุก น้ำท่วมปอด เนื่องจากก้านสมองที่ควบคุม หัวใจ และปอดผิดปกติ และเด็กจำนวนหนึ่งก็มีอาการแขน ขาอัมพาต การระบาดในปี 2541 ที่ไต้หวัน ในผู้ป่วยจำนวนเกือบแสนคน มีเด็ก 400 ราย มีอาการทางระบบประสาท ทำให้เสียชีวิตไปถึง 78 คน และทำให้เด็กป่วยด้วยโรคนี้ไปทั้งไต้หวันมากกว่า 90,000 ราย นายแพทย์ธีระวัฒน์ บอกว่า การระบาดรุนแรงแบบนี้ เคยเกิดมาก่อนหน้านี้ ปี 2518 ที่ประเทศบัลแกเรีย มีผู้เสียชีวิต 44 ราย ปี 2540 ในมาเลเซีย มีผู้เสียชีวิต 47 ราย ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงการระบาดเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ หลังจากปี 2541 ยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่องที่ฮ่องกง มาเก๊า จีน สิงคโปร์ ไต้หวัน มาเลเซีย และประเทศไทย
ลำดับที่สอง...Chandipura virus
มีการระบาดใหญ่ เมื่อเดือนมิถุนายน 2546 ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย การระบาดในช่วง 3-4 เดือนแรกพบเด็กอายุระหว่าง 9 เดือน ถึง 14 ปี จำนวน 329 ราย เกิดอาการสมองอักเสบ และเสียชีวิตอย่างรวดเร็วหลังจากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ปวดท้อง อาเจียน ถึง 183 ราย Chandipura virus อยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสพิษสุนัขบ้า พบครั้งแรกเมื่อปี 2508 ที่อินเดีย ตัวนำโรคคือ sandfly แมลงดูดเลือดตัวเมีย นำไวรัสติดต่อมาสู่คน แม้การระบาดจะจำกัดวงอยู่ในบางพื้นที่ของอินเดีย แต่ ระยะหลังพบแมลง sandfly ที่มีเชื้อไวรัสตัวนี้ในประเทศเซเนกัลและไนจีเรีย
ลำดับที่สาม...Nipah และ Hendra virus
เป็นไวรัสที่ค้นพบใหม่ ในปี 2537 ที่รัฐควีนแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ทำให้เกิดโรคทางปอดในม้า 18 ตัว และคนฝึกม้า 1 ราย ทำให้ม้าตาย 14 ตัว และคนเสียชีวิต 1 ราย ในปีเดียวกันยังได้มีการระบาดต่อ ทำให้ม้าตายไปอีก 3 ตัว และคนเสียชีวิต 1 ราย ด้วยอาการทางปอด นิปาห์ไวรัส...ยังทำให้เกิดโรคระบาดในประเทศมาเลเซีย กันยายน 2541 ถึง พฤษภาคม 2542 มีผู้ป่วยทางสมอง 265 ราย เสียชีวิต 105 ราย และในสิงคโปร์มีผู้ป่วย 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย ที่น่าสนใจ ผู้ป่วย...ผู้เสียชีวิตทั้งหมด ทำงานในโรงฆ่า... ชำแหละหมู ต่อมาไวรัสนิปาห์มีการระบาดต่อเนื่องในบังกลาเทศ เดือนพฤษภาคม 2544 ตาย 9 ราย...มิถุนายน 2546 ตาย 8 ราย...กุมภาพันธ์ 2547 ป่วย 23 ตาย 17...เมษายน 2547...ป่วย 30 ตาย 18 และมกราคมปีนี้...ป่วย 44 ตาย 12
นายแพทย์ธีระวัฒน์ บอกว่า ลักษณะสำคัญของไวรัสทั้ง 2 ตัว ที่ต้องให้ความสำคัญคือ...ตัวแหล่งรังโรคคือ...ค้างคาว โดยเฉพาะค้างคาวกินผลไม้ ข้อแตกต่างของไวรัสนิปาห์ในมาเลเซียและบังกลาเทศ... มาเลเซียไวรัสจะผ่านค้างคาวมายังหมู และติดต่อไปสู่คน ในขณะที่ไวรัสในบังกลาเทศติดต่อจากค้างคาวมายังคนโดยตรง และติดต่อจากคนสู่คนได้ สำหรับประเทศไทย ทีมวิจัยพบค้างคาวติดเชื้อไวรัส Nipah 7.5% ให้ค้างคาวกินผลไม้ 3 ชนิด...ค้างคาวแม่ไก่ภาคกลาง, ค้างคาวแม่ไก่เกาะ, ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน และที่พิเศษยังพบในค้างคาวกินแมลงอีก 1 ชนิด นั่นคือ... ค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบ ค้างคาวที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อออกมาทางน้ำลายและปัสสาวะได้...แต่ไม่ตลอดเวลา เนื่องจากค้างคาวจะแพร่ได้เฉพาะในช่วงที่ติดเชื้อใหม่ๆเท่านั้น สองปีที่ผ่านมา คณะวิจัยได้ตรวจหาเชื้อในผู้ป่วย รพ. จุฬาลงกรณ์ โชคดีที่ยังไม่พบเชื้อไวรัสชนิดนี้ เชื้อร้ายตัวที่สี่...ไวรัส Bat Lyssa ก็มาจากค้างคาวเป็นตัวนำไวรัสพิษสุนัขบ้ามาแพร่สู่คน
นายแพทย์ธีระวัฒน์ บอกว่า ไวรัสตัวนี้เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในแถบอเมริกา ยุโรป อังกฤษ อเมริกาใต้ และออสเตรเลีย โรคพิษสุนัขบ้าเกือบทั้งหมดในคน...เกิดจากการติดต่อจากค้างคาว เป็นไวรัสสายพันธุ์เดียวกับที่พบในสุนัขเช่นเดียวกับในประเทศไทย แต่เชื้อพิษสุนัขบ้าที่มากับค้างคาว จะมีความร้ายกาจกว่าเชื้อที่มาจากสุนัข เพราะไวรัสสามารถเติบโตและแพร่จำนวนได้ที่ผิวหนัง แผลถูกค้างคาวกัด ไม่จำเป็นต้องลึก เพียงแค่ถลอก...คนสามารถตายได้ ในประเทศไทย ทีมวิจัยก็พบว่า ค้างคาวไทยมีการติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ใหม่ 7.8% เป็นค้างคาวกินผลไม้ ในค้างคาวแม่ไก่ ภาคกลาง, ค้างคาวเล็บกุด
ไวรัสร้ายตัวสุดท้าย...ไวรัสเวสท์ไนล์
เป็นไวรัสที่ถูกแพร่มายังคนและสัตว์อื่นๆ โดยมียุงกว่า 20 ชนิดเป็นพาหะ ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ แขน ขาอ่อนแรงอย่างรุนแรงในผู้ป่วย การระบาดครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน ทำให้มีผู้ป่วยปีละ 1,000 ราย ความสำคัญของไวรัสตัวนี้ อยู่ที่การมีนกเป็นแหล่งรังโรคและแหล่งเพาะโรค แล้วมียุงเป็นพาหะนำโรคไปสู่คนและสัตว์อื่น ยุงในบ้านเรามีมากมายหลากหลายพันธุ์ เพราะภูมิอากาศเกือบทั้งปีเหมาะสมกับการแพร่พันธุ์ของยุง ดังนั้น โรคนี้จึงสามารถแพร่ระบาดได้ไม่แพ้ในสหรัฐฯ แม้ว่าคณะผู้วิจัยยังไม่พบผู้ป่วยสมองอักเสบจากเชื้อนี้ก็ตาม แต่ก็ถือว่าประเทศไทยมีปัจจัยและโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคเหล่านี้ได้ไม่ยาก
ข้อมูลจาก
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2548 ปีที่ 56 ฉบับที่ 17488
|
|