 |
|
 |
|
|
 |
|
 |
|
|
|
|
เมื่อ วันศุกร์ 17 มีนาคม 2006 - 15:42 ::: ผู้บันทึก: Admin ::: 9389 คนอ่าน
|
|
|
โรคหลายโรคมักจะมากับหน้าร้อน เช่น ท้องร่วง โรคฮิตตลอดศก รวมทั้งอีสุกอีใสก็ไม่ควรประมาท สธ."เตือนระวัง "อีสุกอีใส"หน้าร้อน โรคหลายโรคมักจะมากับหน้าร้อน เช่น ท้องร่วง โรคฮิตตลอดศก รวมทั้งอีสุกอีใสก็ไม่ควรประมาท
เกี่ยวกับเรื่องนี้ น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนม.ค.ถึงเดือนเม.ย.ทุกปี ประเทศไทยจะพบผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส (CHICKEN POX) มากกว่าช่วงอื่น พบมากที่สุดในเด็กอายุ 5-9 ปี รองลงมาคืออายุต่ำกว่า 4 ปี โรคดังกล่าวเป็นโรคติดต่อเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus :VZV) เมื่อเป็นแล้วสามารถแพร่สู่คนอื่นได้ง่ายมาก เชื้อจะกระจายออกมาจากทางเดินหายใจของผู้ป่วย จากการไอ จาม หายใจรดกัน หรือสัมผัสกับตุ่มหนองของผู้ป่วย โรคดังกล่าวไม่มียารักษาเฉพาะโรค แต่สามารถรักษาเพื่อบรรเทาอาการ ไม่ให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน และเมื่อหายแล้ว เชื้อไวรัสบางส่วนจะหลบอยู่ที่ปมประสาท ผู้ที่เป็นแล้วอาจเกิดโรคงูสวัด
น.พ.ปราชญ์ บอกด้วยว่า แม้โรคอีสุกอีใสจะไม่รุนแรง เป็นแล้วหายเองได้ ยกเว้นมีโรคแทรกซ้อนอาจทำให้เสียชีวิตได้ ที่สำคัญได้แก่ปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส มักพบในกลุ่มผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กมักจะเป็นการติดเชื้อแทรกซ้อนและสมองอักเสบ
โดยอาการหลังติดเชื้อ ระยะแรกจะมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร จากนั้นจะมีผื่นแดงตามผิวหนังบริเวณศีรษะ ใบหน้า ลำตัว ต่อมาผื่นจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใสๆ อยู่ข้างในและมีอาการคัน รอบฐานตุ่มมีสีแดง และตกสะเก็ดภายใน 2-3 วัน ตุ่มเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ขนาดของตุ่มจะไม่เท่ากัน โรคอีสุกอีใสมีระยะฟักตัวกว่าจะปรากฏอาการ 10-21 วัน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้โรคอีสุกอีใส เป็น 1 ใน 31 โรคที่ต้องรายงาน ในปี 2546 ทั่วประเทศ มีรายงานผู้ป่วย 43,173 ราย เสียชีวิต 1 ราย ในปี 2547 มีรายงานผู้ป่วย 85,525 ราย ซึ่งเพิ่มจากปี 2546 ถึง 2 เท่าตัว ไม่มีรายงานเสียชีวิต
ส่วนในปีนี้ตั้งแต่เดือนม.ค.ก.พ.2549 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยแล้ว 72 ราย โดยพบที่จังหวัดขอนแก่น 52 ราย เป็นเด็กนักเรียน 35 ราย ครู 1 ราย และผู้ป่วยในชุมชน 16 ราย และที่สุพรรณบุรี 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 2 จำนวน 12 ราย มีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นและตุ่มพองใส
สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส น.พ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้คำแนะนำเบื้องต้นว่า ขั้นแรกต้องแยกผู้ป่วยไม่ให้คลุกคลีกับผู้อื่น รวมทั้งแยกของกินของใช้ต่างๆ ให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ ใช้ผ้าเช็ดตัวเมื่อมีไข้สูง อย่าให้ผู้ป่วยแกะหรือเกาตุ่มคัน
ที่สำคัญควรเน้นเรื่องความสะอาด ตัดเล็บให้สั้นเพื่อป้องกันการแกะเกา เนื่องจากจะทำให้อักเสบและติดเชื้อได้ง่าย และจะทำให้ผิวหนังลาย มีรอยแผลเป็น
โดยทั่วไป อาการโรคอีสุกอีใสในเด็กเล็กจะไม่รุนแรง อาการอาจจะรุนแรงในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงปิดภาคเรียน อาจจะมีเด็กบางส่วนยังอยู่ในเนิร์สเซอรี่ หรือเรียนพิเศษ หากมีเด็กป่วยเป็นโรคต้องให้หยุดเรียนจนกว่าสะเก็ดแผลจะแห้งแล้ว ส่วนผู้ใหญ่ต้องหยุดพักงานเช่นกัน
การป้องกันโรคอีสุกอีใส นอกจากจะแยกผู้ป่วยให้หยุดเรียน หยุดทำงาน ปัจจุบันมีวัคซีนฉีดป้องกันโรคอีสุกอีใส แต่มีราคาแพง ยังไม่ได้บรรจุในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง วัคซีนสามารถป้องกันโรคอีสุกอีใสได้ 90% สำหรับผู้ที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาแล้ว จะมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติ ไม่ต้องฉีดวัคซีนอีก ส่วนคนที่ยังไม่เคยเป็นก็ควรระวัง
ที่มา นสพ.ข่าวสด วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 15 ฉบับที่ 5585
|
|
 |
|
 |
| |
 |
|
 |
|
| |
|