 |
|
 |
|
|
 |
|
 |
|
|
|
|
เมื่อ วันพุธ 29 มีนาคม 2006 - 14:06 ::: ผู้บันทึก: Admin ::: 14853 คนอ่าน
|
|
|
ข้อแนะนำการดูแลการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายและเล่นกีฬา
การดูแลตนเองเมื่อได้รับการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา จะได้ผลดีต้องกระทำอย่างถูกวิธีและถูกเวลาขึ้นกับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง ประสบการณ์ และอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งจากแพทย์ ผู้ฝึกสอน นักกายภาพบำบัด รวมทั้งตัวผู้เล่นเอง
หลักการปฐมพยาบาลการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายและเล่นกีฬา
เริ่มจากการตรวจร่างกายเพื่อประเมินลักษณะ ความรุนแรงของบาดแผลหรือการบาดเจ็บที่ได้รับรวมทั้งซักถามอาการจากนักกีฬา เช่น มีบวม หรือกดเจ็บ มีอาการปวดขณะเคลื่อนหรือขยับส่วนนั้นๆ หรือไม่ หลังจากได้ข้อมูลการบาดเจ็บแล้ว ให้เริ่มทำการปฐมพยาบาลโดยปฏิบัติตามอักษรภาษาอังกฤษในคำว่า "RICE" ดังนี้
การพัก (Rest) การหยุดใช้งานในส่วนของร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บทันที นั่นคือ ให้หยุดการเล่นกีฬาโดยเฉพาะในช่วง 6 ชั่วโมงแรกของการบาดเจ็บ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญมีการได้พักการใช้งาน อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายต้องการเวลาพักประมาณ 48 ชั่วโมง ก่อนที่จะมีการเริ่มเคลื่อนไหว (mobilization) อีกครั้ง
การใช้ความเย็น (Ice) โดยการประคบเย็นซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการมีเลือดออกบริเวณเนื้อเยื่อ ลดบวมและอาการปวดได้ ระยะเวลาการประคบเย็นต้องกระทำให้เหมาะสมกับบริเวณที่ได้รับการบาดเจ็บ โดยทั่วไปการประคบเย็นให้ประคบนานครั้งละ 10 ถึง 20 นาที หยุดประคบ 5 นาที ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่บวม หรือทำวันละ 2 ถึง 3 ครั้ง วิธีที่นิยมใช้ในการประคบเย็น ได้แก่
- การใช้ถุงเย็น (Ice pack) ซึ่งจะคงความเย็นได้ประมาณ 45-60 นาที และต้องมีผ้าห่อไว้ไม่ให้ถุงเย็นสัมผัสโดยตรงกับผิวหนัง
- การใช้ถุงใส่น้ำแข็ง ผ้าชุบน้ำเย็น ในกรณีที่ไม่มีถุงเย็น หรือบริเวณของการบาดเจ็บกว้างเกินขนาดของถุงเย็น
- การพ่นด้วยสเปรย์เย็น (Cooling spray) อาจใช้ลดปวดเฉพาะที่ได้ชั่วคราว สามารถใช้ได้กับบริเวณที่เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังไม่หนา เช่น คาง สันหมัด ข้อเท้า
การพันผ้ายืด (Compression bandage) เพื่อกดไม่ให้มีเลือดออกในเนื้อเยื่อมาก มักใช้ร่วมกับการประคบเย็น เพื่อให้ได้ประโยชน์จากทั้งสองด้านร่วมกัน การพันผ้ายืดควรพันให้กระชับส่วนที่บาดเจ็บและควรใช้ผ้าสำลีผืนใหญ่รองไว้ให้หนาๆ โดยรอบก่อนพันด้วยผ้ายืด ควรพันผ้ายืดคลุมเหนือและใต้ต่อส่วนที่บาดเจ็บ
การยก (Elevation) ยกส่วนของร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจได้สะดวก เช่น การนอนวางขาหรือเท้าบนหมอน ในกรณีที่นั่งให้วางเท้าบนเก้าอี้ เป็นต้น ในกรณีบาดเจ็บรุนแรงควรยกสูงไว้ประมาณ 24-48 ชั่วโมง นอกจากนั้น การยกส่วนของร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บให้สูง ยังช่วยในการลดการกดของน้ำนอกเซลล์ที่หลั่งออกมาสู่เนื้อเยื่อบริเวณนั้น ทำให้ลดการบวมลงได้
ข้อควรหลีกเลี่ยง
ควรหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนในรูปแบบต่างๆ ในระยะแรก (48 ชั่วโมง) ของการบาดเจ็บ เพราะจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว มีเลือดออกในบริเวณนั้นเพิ่มขึ้น นำไปสู่การบวมของเนื้อเยื่อโดยรอบ และจะมีอาการปวดมากขึ้น การหายจะช้าลง
|
|
 |
|
 |
| |
 |
|
 |
|
| |
|