 การตรวจสอบภายใน
โดยปกติ รายงานเป็นเครื่องมือในการควบคุมและแจ้งผลการปฏิบัติงานอย่างหนึ่ง แต่ทำอย่างไรผู้บริหารจึงจะมั่นใจได้ว่า
ผู้ใต้บังคับบัญชาและหน่วยงานในกำกับดูแลปฏิบัติการตามกฎเกณฑ์และนโยบายที่วางไว้อย่างจริงจังและสม่ำเสมอ
คงต้องมี ผู้ช่วย ที่มีความสามารถในการตรวจสอบและสอบทานการปฏิบัติงานว่า กำลังดำเนินไปตามแผนงานที่วางไว้หรือไม่
สามารถตรวจสอบว่ากฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับได้รับการปฏิบัติตามหรือไม่ เพื่อให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในการป้องกันความเสี่ยงที่อาจทำให้การปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
รวมทั้งสามารถตรวจสอบงานอื่น ๆ ที่ผู้บริหารให้ความสนใจเป็นพิเศษ ผู้ช่วย คนนั้น
คือ ผู้ตรวจสอบภายใน นั่นเอง
การตรวจสอบภายใน
หมายถึง กิจกรรมการให้หลักประกันอย่างเที่ยงธรรม และการให้คำปรึกษาอย่างเป็นอิสระ
ซึ่งจัดให้มีขึ้นเพื่อเพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการปฏิบัติงานขององค์กรให้ดีขึ้น การตรวจสอบภายในช่วยให้องค์กรบรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้
ด้วยการประเมินและปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการบริหารความเสี่ยง
การควบคุมและการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบและเป็นระเบียบ (ที่มา
: The Institute of Internal Auditors : IIA)
การตรวจสอบภายในจำแนกเป็นประเภทใหญ่ ได้แก่
- การตรวจสอบทางการเงิน (Financial Auditing)
เป็นการตรวจสอบความถูกต้องและเชื่อถือได้ของข้อมูลและตัวเลขต่าง
ๆ ทาง การเงิน การบัญชี และรายงานทางการเงิน โดยครอบคลุมถึงการดูแลป้องกันทรัพย์สิน
และประเมินความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในของระบบงานต่าง ๆ ว่ามีเพียงพอที่จะมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่บันทึกในบัญชี
รายงาน ทะเบียน และเอกสารต่าง ๆ ถูกต้อง และสามารถสอบทานได้ หรือเพียงพอ ที่จะป้องกันการรั่วไหล
สูญหายของทรัพย์สินต่าง ๆ ได้
- การตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อกำหนด (Compliance
Auditing) เป็นการตรวจสอบการปฏิบัติงานด้านต่างๆ ของส่วนราชการ
ให้เป็นไปตามนโยบาย กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
- การตรวจสอบการดำเนินงาน (Performance Auditing)
เป็นการตรวจสอบผลการดำเนินงานตามแผนงาน งาน และโครงการต่าง ๆ ของส่วนราชการ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย
หรือมาตรฐานที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุ้มค่า โดยมีผลผลิตและผลลัพธ์เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย
ซึ่งวัดจากตัวชี้วัดที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความเพียงพอและความมีประสิทธิภาพของกิจกรรมการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในของส่วนราชการ
- การตรวจสอบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information
Technology Auditing) เป็นการพิสูจน์ความถูกต้องและเชื่อถือได้ของระบบงาน
และข้อมูลที่ได้จากการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ รวมทั้งระบบการเข้าถึงข้อมูลในการปรับปรุงแก้ไข
และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
- การตรวจสอบการบริหาร (Management Auditing)
เป็นการตรวจสอบการบริหารงานด้านต่าง ๆ ของส่วนราชการ ว่ามีระบบการ
บริหารจัดการเกี่ยวกับการวางแผน การควบคุม การประเมินผล การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณ
การบริหารการเงิน การบริหารพัสดุและ ทรัพย์สิน รวมทั้งการบริหารงานด้านต่าง ๆ
ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจของส่วนราชการ ให้เป็นไปตามหลักการบริหารงานและหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
(Good Governance) ในเรื่องความเชื่อถือได้ ความรับผิดชอบ ความเป็นธรรม และความโปร่งใส
- การตรวจสอบพิเศษ (Special Auditing) เป็นการตรวจสอบในกรณีที่ได้รับมอบหมายจากผู้บริหาร
หรือกรณีมีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริต ผิดกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตหรือประพฤติมิชอบเกิดขึ้น
เพื่อให้ได้ข้อมูลเบื้องต้นประกอบการพิจารณาดำเนินการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อไป
ความสำคัญของการตรวจสอบภายใน
การตรวจสอบภายในมีความสำคัญอย่างมากในการเป็นเครื่องมือทางการบริหาร และส่งเสริมการปฏิบัติงานในองค์กรให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยการให้บริการเป็นหลักประกันความเชื่อมั่นจากการประเมินประสิทธิภาพ ประสิทธิผล
และความคุ้มค่าของกระบวนการปฏิบัติงาน การให้คำปรึกษา และนำเสนอรายงาน เพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมการเพิ่มมูลค่าและความสำเร็จแก่องค์กร
ได้แก่
- ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการกำกับดูแลที่ดี (Good Governance)
และความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน (Transparency)
- ส่งเสริมให้เกิดการบันทึกบัญชีและรายงานตามหน้าที่ ความรับผิดชอบ
(Accountability and Responsibility)
- ส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการปฏิบัติงาน
(Efficiency and Effectiveness of Performance)
- เป็นมาตรการถ่วงดุลแห่งอำนาจ (Check and Balance) ส่งเสริมให้การจัดสรรการใช้ทรัพยากรขององค์กรเป็นไปอย่างเหมาะสมตามลำดับความสำคัญ
เพื่อให้ได้ผลงานที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร
- ให้สัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า (Warning Signals) ของการประพฤติไม่ชอบหรือการทุจริตในองค์กร
ลดโอกาสความร้ายแรงและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งเพิ่มโอกาสของความสำเร็จของงาน
ผู้รับตรวจ คือ
ผู้บริหารทุกระดับ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของส่วนราชการ(หน่วยงาน)
ผู้รับตรวจควร ให้ความร่วมมือกับผู้ตรวจสอบภายใน โดยการจัดเอกสารหลักฐานประกอบข้อมูลและคำชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องที่รับผิดชอบ
เพื่อให้ผู้ตรวจสอบภายในสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิผล
ความร่วมมือจาก ผู้รับตรวจเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง
ที่ทำให้การตรวจสอบภายในประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร
ผู้ตรวจสอบภายในทำงานอะไรและอย่างไร
คนทั่ว ๆ ไปมักเข้าใจว่าผู้ตรวจสอบภายในทำงานจำกัดอยู่เฉพาะการตรวจสอบเกี่ยวกับการเงินและการบัญชีเท่านั้น
ความจริงแล้วการตรวจสอบภายในมีความหมายและขอบเขตการปฏิบัติงานกว้างขวางกว่านั้นมาก
ผู้ตรวจสอบภายในมีขอบเขตการทำงานที่ต้องครอบคลุมทุกภารกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบของหัวหน้าส่วนราชการ(หัวหน้าหน่วยงาน)
ซึ่งอาจแตกต่างจากงานของคณะกรรมการสอบสวน หรืองานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะงานของคณะกรรมการสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจมีวัตถุประสงค์ที่จะสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิด
หรือร่วมรับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย
งานของผู้ตรวจสอบภายในมุ่งที่จะค้นหาข้อบกพร่องของระบบงานว่ามีจุดใด
ที่เป็นช่องทางให้เกิดการรั่วไหล หรือการปฏิบัติงานขาดประสิทธิภาพ ล่าช้า เป็นต้น
และพยายามหาทางแก้ไขให้ดีขึ้น
การที่ผู้ตรวจสอบภายในจะปฏิบัติงานดังกล่าวข้างต้นให้ได้ดีและมีประสิทธิภาพ ผู้ตรวจสอบภายใน
จำเป็นต้องดำเนินการดังนี้
- กำหนดเป้าหมาย ทิศทาง ภารกิจ ขอบเขต และแนวทางการตรวจสอบ
เพื่อสนับสนุนการบริหารงาน และการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของส่วนราชการ
- ตรวจสอบความถูกต้องและเชื่อถือได้ของข้อมูลต่าง ๆ การปฏิบัติงานของหน่วยงาน
และผลการดำเนินงานตามแผนงาน งาน โครงการ ตลอดจนการบริหารด้านต่าง ๆ ของส่วนราชการ
- ประเมินผลการดำเนินงานและการบริหารงาน รวมทั้งรายงานผลการตรวจสอบและการให้คำปรึกษา
ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ แนวทางการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ส่วนราชการมีการบริหารจัดการที่ดี
เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุตามนโยบายที่กำหนด
- ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการตรวจสอบภาคราชการ
ผู้ตรวจสอบภายในระดับจังหวัด/ กระทรวง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อขอรับความคิดเห็น
ข้อเสนอแนะ ในการปรับปรุงแก้ไขงานตรวจสอบภายใน อันก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่องค์กร
ผลงานของผู้ตรวจสอบภายใน
ผลงานของผู้ตรวจสอบภายใน คือ รายงานผลการตรวจสอบที่ผู้ตรวจสอบภายในจะรายงานให้ผู้บริหารหน่วยงานทราบภายในเวลาอันสมควร
หรืออย่างน้อยทุก 2 เดือน หรือเมื่อตรวจสอบเรื่องหนึ่งเรื่องใด แล้วเสร็จตามแผน
ในกรณีเรื่องที่ตรวจพบเป็นเรื่องที่จะมีความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทางราชการ
ผู้ตรวจสอบภายในจะรายงานผลการตรวจสอบให้ทราบทันที
รายงานดังกล่าวจะเป็นการสรุปผลที่ได้จากการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดทุกขั้นตอน ข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดที่ตรวจพบ
ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไข
รายงานของผู้ตรวจสอบภายในสามารถจะจัดทำในรูปของรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยวาจาซึ่งขึ้นอยู่กับประเด็นที่เห็นควรต้องให้มีการแก้ไขอย่างทันท่วงที
ซึ่งผู้บริหารควรให้ความสำคัญกับรายงานดังกล่าว ตลอดจนนำข้อเสนอแนะมาพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรต่อไป
ผลจากการให้การสนับสนุนและการให้ความสำคัญของผู้บริหาร จะยิ่งช่วยให้ท่านสามารถใช้ประโยชน์จากรายงานผลการตรวจสอบในการบริหารงาน
และเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นในการติดตาม ประเมินผล และปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานของหน่วยงานในกำกับดูแลให้เป็นไปตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้ได้
ปัจจัยที่ทำให้งานตรวจสอบภายในบรรลุเป้าหมาย
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าผู้ตรวจสอบภายในเป็นผู้ที่จะช่วยผู้บริหารในด้านการควบคุมการบริหารงานให้เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ได้
แต่ผู้ช่วยจะทำงานได้อย่างมี ประสิทธิภาพหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน 3 ประการ
คือ ตัวผู้ตรวจสอบภายในเอง สถานภาพของหน่วยงานตรวจสอบภายใน และตัวผู้บริหาร ดังนี้
- ผู้ตรวจสอบภายใน ต้องปฏิบัติตามระเบียบ
มาตรฐาน คู่มือ และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน ซึ่งกำหนดโดยหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบ
เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และหลักการสากลที่ถือปฏิบัติโดยทั่วไป
จะต้องเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ในวิชาชีพ สาขาอื่น
ซึ่งจำเป็นต่อการปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน รวมทั้งต้องมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
การใช้ดุลยพินิจต้องเที่ยงธรรมและระมัดระวังรอบคอบอย่างยิ่ง
จำเป็นต้องมีแนวทางการปฏิบัติงานพิเศษที่แสดงถึงความซื่อสัตย์
ความยุติธรรม ความมีมาตรฐาน เพื่อให้เกิดการยอมรับจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง
กรมบัญชีกลางในฐานะผู้กำกับดูแลงานตรวจสอบภายในได้กำหนดมาตรฐานการตรวจสอบภายในและจริยธรรมของผู้ตรวจสอบภายใน
เพื่อให้ผู้ตรวจสอบภายในของส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดย มาตรฐานการตรวจสอบภายใน
ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ
- มาตรฐานด้านคุณสมบัติ เป็นมาตรฐานที่กล่าวถึงลักษณะของหน่วยงานและบุคลากรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบภายใน
- มาตรฐานด้านการปฏิบัติงาน เป็นมาตรฐานที่กล่าวถึงลักษณะของงานตรวจสอบภายใน
และบรรทัดฐานที่สามารถใช้ประเมินผลการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในในส่วนของจริยธรรมของผู้ตรวจสอบภายใน
ซึ่งกล่าวถึง
- ความมีจุดยืนอันมั่นคง หมายถึง ความซื่อสัตย์ ความขยันหมั่นเพียรและความรับผิดชอบ
- การรักษาความลับ หมายถึง การเคารพต่อสิทธิแห่งข้อมูลที่ได้รับทราบ
- ความเที่ยงธรรม หมายถึง การไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสร้างความสัมพันธ์ใด
ๆ ในอันที่จะทำให้มีผลกระทบต่อความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติงาน
- ความสามารถในหน้าที่ หมายถึง ความรู้ ทักษะและประสบการณ์ในงานที่ทำ
ปฏิบัติงานตามมาตรฐานการตรวจสอบภายใน และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
- สถานภาพของหน่วยตรวจสอบภายใน
เพื่อให้ผู้ตรวจสอบภายในทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบงานตามนโยบายของท่านให้ได้ผลตามเป้าหมาย
ผู้บริหารจะต้องให้การสนับสนุนงานตรวจสอบภายใน โดยการให้สถานภาพที่เหมาะสม คือ
ผู้ตรวจสอบภายในจะต้องมีหน้าที่เสนอแนะ (Staff Function) และขึ้นตรงกับผู้บริหาร
นั่นคือ รับคำสั่งและรายงานต่อผู้บริหารโดยไม่ต้องผ่านผู้หนึ่งผู้ใด การขึ้นตรงต่อผู้บริหารสูงสุดของส่วนราชการ(หน่วยงาน)
ทำให้ผู้ตรวจสอบภายในมีอิสระในการตรวจสอบ และทำให้สามารถเข้าถึงเอกสาร ทรัพย์สิน
หลักฐาน และบุคคลที่เกี่ยวข้องได้โดยง่าย อันเป็นผลให้เกิด
- สิทธิที่จะเข้าถึง หมายความว่า ผู้ตรวจสอบภายในจะต้องมีสิทธิที่จะเข้าสังเกต
หรือตรวจสอบบันทึก รายงาน และทรัพย์สินต่าง ๆ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานของหน่วยรับตรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตรวจสอบได้ทั้งหมด
- เสรีภาพในการตรวจสอบ หมายความว่า ผู้ตรวจสอบภายในจะต้องมี
อิสระ เพียงพอในการตรวจสอบทุก ๆ ด้าน โดยไม่มีอุปสรรคหรือได้รับการขัดขวาง
หรือแทรกแซงจากผู้หนึ่ง ผู้ใด หรือกลุ่มบุคคลใด ๆ ทั้งในการปฏิบัติงานตรวจสอบและการเสนอความเห็นในการตรวจสอบ
และมิให้เป็นคณะกรรมการใด ๆ ของส่วนราชการหรือหน่วยงานในสังกัดอันมีผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานและการเสนอความเห็น
- การมีส่วนได้ส่วนเสีย หมายความว่า ผู้ตรวจสอบภายในจะต้องไม่มีอำนาจ
และความรับผิดชอบโดยตรงกับงานที่ตรวจสอบ นั่นคือ ต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผลประโยชน์
หรือรับมอบหมายหน้าที่ซึ่งเกี่ยวกับการบริหารงานของงานหรือของหน่วยงานที่ตนจะต้องตรวจสอบ
ผลการตรวจสอบจึงออกมาโดยปราศจากความลำเอียงใด ๆ
ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรมอบหมายให้ผู้ตรวจสอบภายในปฏิบัติงานในลักษณะบริหารและควบคุม
(Line Function) อาทิเช่น เป็นผู้วินิจฉัยและสั่งการขั้นสุดท้ายของความถูกต้องหรือข้อบกพร่อง
ในการปฏิบัติงานของบุคคลหรือหน่วยงานที่ตรวจสอบ หรือมอบหมายงานด้านบริหารให้ผู้ตรวจสอบภายในปฏิบัติ
(ยกเว้นในหน่วยงานของผู้ตรวจสอบภายในเอง) หรือเป็นกรรมการพิจารณาความผิดและลงโทษทางวินัย
หรืองานอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบภายใน เพราะการมอบหมายดังกล่าวจะเป็นการทำให้ผู้ตรวจสอบภายในต้องทำหน้าที่ในฐานะผู้บังคับบัญชาตามสายงาน
ซึ่งจะทำให้ผู้ตรวจสอบภายในขาดความเป็นอิสระและความเที่ยงธรรม มีส่วนได้เสียในกิจกรรมที่ตนตรวจสอบ
และจะทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนหรือความร่วมมือในการตรวจสอบตามหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้บริหารระดับรอง
หรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานปฏิบัติการ
(สำหรับหน่วยงานที่ไม่มีการจัดโครงสร้างหน่วยงานตรวจสอบภายในที่เป็นอิสระจริง
มักจะใช้ระบบการตรวจสอบไขว้ระหว่างหน่วยงาน เพราะจะทำให้ผู้ตรวจสอบภายในที่เข้าตรวจสอบหน่วยงานใดไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบและบริหารหน่วยงานที่รับตรวจนั้น)
- ผู้บริหาร ผู้ตรวจสอบภายในจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
ขึ้นอยู่กับตัวผู้บริหารเอง ในฐานะที่เป็นผู้บริหารสูงสุดเป็นสำคัญ ท่านสามารถทำให้งานตรวจสอบภายในบรรลุ
วัตถุประสงค์ โดย
- ท่านจะต้องเข้าใจและมีทัศนคติที่ดี ต่องานตรวจสอบภายใน
อีกทั้งยังต้องรู้จักงานตรวจสอบภายใน เพื่อให้สามารถช่วยงานของท่านได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
- ท่านต้องสร้างความตระหนักและช่วยเสริมสร้างบรรยากาศภายในหน่วยงานของท่าน
โดยให้เจ้าหน้าที่ในแต่ละหน่วยงานหรือที่เรียกว่าหน่วยรับตรวจ คุ้นเคยกับผู้ตรวจสอบภายใน
และช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าผู้ตรวจสอบภายในไม่ใช่ผู้ที่จะจ้องแต่จับผิด
แต่จะเป็นผู้ช่วยเหลือแนะนำการทำงานให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับ
และนโยบายของท่าน พร้อมทั้งแสดงออกทุกวิถีทางในลักษณะที่สนับสนุนผู้ตรวจสอบภายใน
ให้ทำงานตามขอบเขตหน้าที่ได้อย่างอิสระ ปราศจากอุปสรรคใด ๆ การสนับสนุนอาจทำได้โดยการแนะนำเป็นส่วนตัว
หรือมีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยรับตรวจต่าง ๆ ชี้ให้เห็นและเข้าใจถึงขอบเขตหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน
ประโยชน์ที่ได้รับจากการตรวจสอบภายใน รวมทั้งขอความร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายในด้วย
- ท่านควรปรับปรุงระบบการติดต่อสื่อสารภายในหน่วยงานให้ครอบคลุมถึงการแจ้งข่าวสารแก่ผู้ตรวจสอบภายใน
ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมาก เนื่องจากการที่กำหนดให้ผู้ตรวจสอบภายในขึ้นตรงต่อท่านโดยมิให้สังกัดส่วนงานใด
ทำให้ถูกตัดขาดจากระบบข่าวสารปกติ เช่น การแจ้งข่าวสารในรูป คำสั่ง หนังสือเวียน
เป็นต้น ทำให้ข้อมูลข่าวสารที่ผู้ตรวจสอบภายในมีอยู่ไม่ทันต่อเหตุการณ์
การตรวจสอบก็จะไม่ประสบผล
นอกเหนือจากการปรับปรุงระบบสื่อสารแล้ว หากมีการประชุมระดับผู้บริหารเพื่อกำหนดแผนหรือนโยบายการบริหาร
หรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแผนงาน ควรจะให้ผู้ตรวจสอบภายในเข้าร่วมประชุม หรือเข้าสังเกตการณ์ด้วย
เพราะจะทำให้ผู้ตรวจสอบภายในมีข้อมูลที่จะนำไปใช้ในการวางแผน และปฏิบัติงานตรวจสอบต่อไป
หากผู้ตรวจสอบภายในได้รับการสนับสนุนจากท่านอย่างดีเช่นนี้ ผู้ตรวจสอบภายในจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่และจะเป็นเครื่องมือที่ดีของท่าน
ที่จะช่วยการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา : เอกสารเผยแพร่และแนะนำ โดยกลุ่มมาตรฐานด้านการตรวจสอบภายใน
กรมบัญชีกลาง
เรื่อง การตรวจสอบภายใน ให้อะไรมากกว่าที่ท่านคิด
|