 |
|
 |
|
|
 |
|
 |
|
|
|
|
เมื่อ วันจันทร์ 17 เมษายน 2006 - 11:05 ::: ผู้บันทึก: prweb ::: 6022 คนอ่าน
|
|
|
แม่อายุมากไม่ใช่ปัจจัยลูกดาวน์ซินโดรม
แม้วิทยาการทางการแพทย์จะรุดหน้า แต่ปัญหาบางอย่างยังไม่หมดไป เช่น ดาวน์ซินโดรม ดังนั้นสำนักการศึกษากรุงเทพมหานครจึงร่วมกับบริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) จัดโครงการค่ายครอบครัวสำหรับเด็กดาวน์ซินโดรมขึ้น ณ ศูนย์ฝึกอบรมธาราพาร์ค ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น ย่านแจ้งวัฒนะ เพื่อช่วยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการจัดกิจกรรมพัฒนาความรู้ ฝึกทักษะทางภาษาแก่พ่อแม่ ครู ผู้เกี่ยวข้องกับเด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรม
ศ.พ.ญ.พรสวรรค์ วสันต์ หัวหน้าหน่วยสาขาวิชาเวชพันธุศาสตร์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2530 ศิริราชพยาบาลมีอัตราเด็กเกิดมาทั้งหมด 20,000 คนต่อปี ในจำนวนเด็กที่เกิดมา 800 คน พบเด็กที่มีอุบัติการณ์ดาวน์ซินโดรม 1 คน เด็กพวกนี้ถูกพ่อแม่ทิ้งเดือนเว้นเดือนเนื่องจากไม่มีความรู้
ขณะนั้นแพทย์เองมีทัศนคติทางลบต่อเด็กที่มีกลุ่มอาการดังกล่าว เนื่องจากเด็กที่มีอุบัติการณ์ดาวน์ซินโดรมจะมีหน้าตาฟ้องจนถูกเรียกว่า เด็กปัญญาอ่อน เมื่อพ่อแม่เห็นจะเกิดอาการตกใจและจะเห็นภาพของพ่อแม่ร้องไห้ ต่างจากในปัจจุบันนี้พ่อแม่ได้รับความรู้อย่างดี ขณะที่สังคมโรงเรียนให้โอกาสเด็กในการเข้าเรียนหนังสือร่วมกับเด็กปกติมากขึ้น
เกี่ยวกับอาการของเด็กดาวน์ซินโดรม
ศ.พญ.พรสวรรค์ กล่าวว่า ไม่ใช่เกิดจากการติดเชื้อแต่เป็นความผิดพลาดของธรรมชาติโครโมโซมผิดปกติ ดังนั้นเมื่อมีลูกกลุ่มอาการดาวน์ไม่ต้องโทษกัน เพราะอาจมาจากพ่อหรือแม่ก็ได้ จากการศึกษาพบว่าแม่ที่อายุยังน้อย 17 ปีมีลูกเป็นดาวน์ซินโดรมได้ ไม่เกิดขึ้นกับแม่ที่อายุ 34 ปีขึ้นไปเสมอไป
หลายคนเคยตั้งคำถามว่า ทำไมถึงเกิดขึ้นกับเรา ในฐานะที่เป็นพ่อแม่ควรเลี้ยงดูลูกที่อยู่ในกลุ่มอาการดาวน์ให้ดี ตั้งแต่รู้ว่าลูกอยู่ในกลุ่มอาการดาวน์ต้องยอมรับให้ได้
หากยอมรับไม่ได้เด็กจะถูกทิ้งไม่ได้รับการช่วยเหลือ เมื่อยอมรับได้ต้องพาลูกมารับการพัฒนากล้ามเนื้อตั้งแต่ 2 เดือนแรก เพราะเด็กกลุ่มอาการดาวน์กล้ามเนื้อจะอ่อนปวกเปียกไม่แข็งแรง ต้องตรวจสุขภาพตรวจหัวใจและต่อมไทรอยด์ ศ.พญ.พรสวรรค์ กล่าวด้วยว่า เด็กในกลุ่มอาการดาวน์ในช่วง 3 ปีแรก ถือว่าสำคัญมากเด็กต้องได้รับการฝึกพัฒนาในด้านต่างๆ อาทิ เรื่องระเบียบวินัย การไม่ก้าวร้าว การกินอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กพิเศษ พ่อแม่สำคัญที่สุด นอกจากนี้ยังมีแพทย์พยาบาลที่ช่วยดูแลเรื่องสุขภาพการพัฒนาการ ส่วนคุณครูต้องมีจิตวิญญาณของครูแท้จริงในการสอนเด็กพิเศษ เพราะเด็กเหล่านี้จะสอนยากกว่าเด็กปกติ จึงเป็นเรื่องท้าทายความสามารถไม่น้อย
ขณะเดียวกันผู้ปกครองเองต้องยอมรับว่าเด็กดาวน์ซินโดรมมีข้อจำกัดทางปัญญา การตั้งความหวังจะให้ลูกเรียนสูงๆ เท่ากับเด็กปกตินั้นต้องเผื่อใจไว้และต้องยอมรับความจริงให้ได้ เด็กดาวน์ซินโดรมสามารถเรียนร่วมในโรงเรียนปกติได้ ต้องมีไอคิวไม่ต่ำกว่า 55 ถึงจะเรียนได้ แต่หากวัดแล้วไม่ถึงมีทางออกทางอื่น เช่น การค้นหาทางออกให้ลูกด้วยการให้ทำงานด้านศิลปะ เล่นกีฬา เล่นดนตรี
พ่อแม่ต้องยอมรับลูกที่มีความบกพร่องให้ได้ อาจยากในตอนแรก ช่วงต่อไปต้องอยู่เคียงข้างลูก พ่อแม่เองต้องมีความรู้ในการช่วยเหลือลูกและต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้องคือ แพทย์ พยาบาล ส่วนครอบครัวญาติมิตรต้องเห็นใจไม่ซ้ำเติม ครูเองต้องมีทัศนคติที่ดี สังคมต้องสนับสนุนการประกอบอาชีพให้เด็กกลุ่มอาการดาวน์ พ่อแม่ควรได้รับกำลังใจจากสังคมด้วยว่าเขาทำหน้าที่เขาดีที่สุดแล้ว ศ.พญ.พรสวรรค์ แนะผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอยู่ในกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม
ข้อมูลข่าว : บ้านเมืองออนไลน์: webmaster@banmuang.co.th วันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2549 คอลัมน์ : ชีวิตและสุขภาพ โดย น.พ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์
|
|
 |
|
 |
| |
 |
|
 |
|
| |
|