ซึ่งพบว่าผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกันเป็นเวลานานจะเสี่ยงต่อการที่อสุจิถูกทำลายมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้หรือใช้น้อย โดยผู้ที่ใช้มือถือมากกว่าวันละ 4 ชั่วโมง จะมีอสุจิที่คุณภาพต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ถึง 30%
ผลวิจัยชี้ว่า สเปิร์มจะมีจำนวนลดลง มีคุณภาพและความสามารถในการเคลื่อนที่ต่ำลงหากปริมาณการใช้โทรศัพท์มากขึ้น โดยผู้ชายที่ใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน จะมีปริมาณสเปิร์มราว 50 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร ส่วนผู้ที่ใช้ราว 2-4 ชั่วโมง มีอสุจิ 59 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร ขณะที่ผู้ใช้วันละ 2 ชั่วโมง หรือไม่ใช้เลย มีปริมาณอสุจิ 69 และ 86 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ
ดร.อาการ์วัล กล่าวว่า รังสีของโทรศัพท์มือถืออาจทำลายดีเอ็นเอของสเปิร์ม รบกวนเซลล์ที่ผลิตฮอร์โมนเทสทอสเทอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่ผลิตจากลูกอัณฑะ หรือทำให้ท่อที่ผลิตสเปิร์มหดตัว ขณะที่องค์การอนามัยโลก (ฮู) กำหนดไว้ว่า ในคนปกติ อสุจิปริมาณ 1 มิลลิลิตร ควรมีสเปิร์มระหว่าง 20-200 ล้านตัว
อย่างไรก็ดี ผู้วิจัยย้ำว่า ผลการศึกษาชิ้นนี้ไม่ได้พิสูจน์ว่าการใช้มือถือทำลายความสามารถในการสืบพันธุ์ของผู้ชาย แต่ขอร้องให้นักวิทยาศาสตร์เร่งศึกษาวิจัยเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ในกรณีนี้ เนื่องจากพบว่าคุณภาพความสมบูรณ์ของสเปิร์มลดลงอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังเป็นกรณีที่พบได้ทั่วโลก เนื่องจากมีผู้ใช้โทรศัพท์มากเกือบ 1,000 ล้านคนทั่วโลก โดยไม่ได้คำนึงถึงผลที่อาจจะตามมา
ด้าน นายอัลแลน เพซีย์ นักบรรยายอาวุโสจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ในอังกฤษ ให้ความเห็นว่า การศึกษาชิ้นนี้เป็นการศึกษาที่ดี แต่มีหลายอย่างที่ขัดแย้งกันเอง โดยมองว่ายิ่งคนใช้มือถือมากเท่าไรก็เท่ากับว่ามือถือจะไม่ได้นอนนิ่งอยู่ในกระเป๋ากางเกงนานขึ้นเท่านั้น ซึ่งในเมื่อมือถือไม่ได้อยู่ในกระเป๋ากางเกงแล้ว ทำไมถึงได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของอสุจิ ซึ่งตัวเขามองว่าอาจมีปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากการใช้มือถือที่ทำให้คุณภาพของอสุจิลดลง อาทิ อาจนั่งอยู่ในรถนานจนทำให้เกิดความร้อน มีความเครียดมาก หรือกินแต่อาหารขยะ